ระบบฐานข้อมูลด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น จังหวัดอุดรธานี
มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น มีพันธกิจสำคัญในการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และบริการวิชาการแก่ท้องถิ่น นอกเหนือจากการจัดการศึกษา การผลิตบัณฑิต การศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่สังคม โดยเฉพาะในเขตพื้นที่บริการ ได้แก่ จังหวัดหนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยยังไม่สามารถรวบรวมสารสนเทศและจัดระบบฐานข้อมูลท้องถิ่นได้อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ไม่มีแหล่งอ้างอิงหรือแหล่งศึกษาค้นคว้าด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ส่งผลให้การอนุรักษ์และทำนุบำรุงด้านศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นทำได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ

สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินพันธกิจด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัย ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการรวบรวมสารสนเทศ จัดระบบฐานข้อมูลท้องถิ่น เพื่อใช้เป็นแหล่งในการศึกษาค้นคว้าด้านศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น การรวบรวมองค์ความรู้เพื่อการวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ ทำนุบำรุง และเผยแพร่มรดกด้านศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของชาติ ไว้อีกทางหนึ่งด้วย

วัตถุประสงค์
๑. เพื่อรวบรวมสารสนเทศท้องถิ่นของจังหวัดอุดรธานี หนองคาย และหนองบัวลำภู ซึ่งเป็นข้อมูลที่อยู่กระจัดกระจายตามหน่วยงานต่าง ๆ หรือเป็นเพียงคำบอกเล่าตามท้องถิ่น ซึ่งยังไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง
๒. เพื่อสร้างฐานข้อมูลท้องถิ่นของจังหวัดอุดรธานี หนองคาย และหนองบัวลำภู ไว้สำหรับศึกษาวิจัย และใช้ประโยชน์ในทางวิชาการ
๓. เพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่สารสนเทศด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ให้แพร่หลาย และเป็นการทำนุบำรุงและธำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของท้องถิ่น และของชาติ
๔. เพื่อเป็นการอนุรักษ์และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้มีการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสูดในเชิงพาณิชย์ การค้า และการท่องเที่ยว
๕. เพื่อส่งเสริมให้ท้องถิ่น มีระบบคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศไทย
๖. เพื่อนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการจัดเก็บและค้นคืนข้อมูลท้องถิ่น เป็นการเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงสารสนเทศให้กับผู้สนใจทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย

เป้าหมาย
๑. ดำเนินการสำรวจ รวบรวม และจัดเก็บข้อมูลท้องถิ่น พัฒนาฐานข้อมูลท้องถิ่น โดยเน้นด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ของจังหวัดอุดรธานี หนองคาย และหนองบัวลำภู ได้ฐานข้อมูลท้องถิ่นจังหวัดอุดรธานี ฐานข้อมูลท้องถิ่นจังหวัดหนองคาย และฐานข้อมูลท้องถิ่นจังหวัดหนองบัวลำภู
๒. จัดเก็บและรวมรวมผลงานดีเด่นด้านต่าง ๆ ของกลุ่มจังหวัดอุดรธานี หนองคาย และหนองบัวลำภู ใน ฐานข้อมูล “เกียรติภูมิ ผลงานดีเด่นของแต่ละจังหวัด”
๓. สำนักศิลปะและวัฒนธรรม ดำเนินงานตามพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัยในการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของชาติ เป็นศูนย์ข้อมูลท้องถิ่น และแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่สอดคล้องกับการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย สามารถพัฒนาความรู้อันจะส่งผลให้เกิดการแก้ปัญหาของชุมชนและท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
๔. ร่วมสร้างจิตสำนึกและเรียนรู้ศิลปะและวัฒนธรรมตามวิถีไทย
๕. สร้างเครือข่ายองค์ความรู้ ปกป้องสิทธิภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ

ขอบเขตการดำเนินงาน
๑. รวบรวมและจัดเก็บสารสนเทศ จากแหล่งต่าง ๆ ดังนี้
    ๑.๑ สื่อสิ่งพิมพ์
    ๑.๒ สื่ออิเล็กทรอนิกส์
    ๑.๓ ฐานข้อมูล
    ๑.๔ เว็บไซต์
    ๑.๕ บุคคล
    ๑.๖ แหล่งสารสนเทศ
๒. พื้นที่ในการดำเนินการจัดเก็บข้อมูล 3 จังหวัด ได้แก่
    ๒.๑ จังหวัดอุดรธานี (ระยะที่ ๑)
    ๒.๒ จังหวัดหนองคาย (ระยะที่ ๒)
    ๒.๓ จังหวัดหนองบัวลำภู (ระยะที่ ๓)
๓. สารสนเทศที่จัดเก็บและรวบรวมประกอบด้วยด้านต่าง ๆ ดังนี้
    ๓.๑ ข้อมูลประจำจังหวัด
    ๓.๒ สถานที่สำคัญ
    ๓.๓ บุคคลสำคัญ
    ๓.๔ วิถีชาวบ้าน
    ๓.๕ ภูมิปัญญาชาวบ้าน
    ๓.๖ ของดีท้องถิ่น
    ๓.๗ ศิลปะและหัตถกรรม
    ๓.๘ อาหารพื้นบ้าน
    ๓.๙ พืชและสมุนไพรพื้นบ้าน
    ๓.๑๐ ภาษา
    ๓.๑๑ พิธีกรรมและความเชื่อ
    ๓.๑๒ การแต่งกาย
    ๓.๑๓ ศิลปะการแสดง
    ๓.๑๔ การละเล่นพื้นบ้าน
    ๓.๑๕ ข้อมูลผลงานดีเด่น เกียรติภูมิ รางวัล ของแต่ละจังหวัด
    ๓.๑๖ ข้อมูลผลงานดีเด่น เกียรติภูมิ รางวัล ของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี

ผู้รับผิดชอบโครงการ
สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
คณะกรรมการสำนักศิลปะและวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ
สาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
ศูนย์คอมพิวเตอร์
มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี

ผลที่คาดว่าจะได้รับ
    ๑. มีฐานข้อมูลท้องถิ่นเพื่อใช้ประโยชน์ในการศึกษาวิจัย และใช้ประโยชน์ในเชิงวิชาการ
    ๒. มีแหล่งบริการและเผยแพร่สารสนเทศท้องถิ่นของจังหวัดอุดรธานี หนองคาย และหนองบัวลำภู
    ๓. สามารถให้บริการสารสนเทศท้องถิ่นให้กับผู้สนใจทั่วไปทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย
    ๔. สร้างความตระหนักให้กับประชาชน และชุมชน ในด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น และของชาติ
    ๕. เป็นการอนุรักษ์ และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่ และสืบทอดต่อไปชั่วลูกหลาน
    ๖. ประชาชนท้องถิ่นในสามจังหวัด มีข้อมูลสารสนเทศที่เป็นประโยชน์ในการนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์