สภาพภูมิศาสตร์จังหวัดอุดรธานี

ที่ตั้ง
จังหวัดอุดรธานี ตั้งอยู่ตอนบนของประเทศ หรือที่เรียกว่า อีสานเหนือ อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ระหว่างเส้นรุ้งที่ 17 องศา 13 ลิปดา เหนือ ถึง 18 องศา 10 ลิปดาเหนือ และระหว่างเส้นแวงที่ 102 องศา 00 ลิปดา ตะวันออก ถึง 103 องศา 30 ลิปดา ตะวันออก

อาณาเขต 
          ทิศเหนือ                   ติดต่อกับจังหวัดหนองคาย (อ.ท่าบ่อ อ.โพนพิสัย อ.ศรีเชียงใหม่ และ  อ.สังคม)
          ทิศใต้                      ติดต่อกับจังหวัดขอนแก่น (อ.น้ำพอง อ.ภูเวียง) จังหวัดกาฬสินธุ์ (อ.สหัสสขันธ์)
          ทิศตะวันออก             ติดต่อกับจังหวัดสกลนคร (อ.วานรนิวาส อ.สว่างแดนดิน อ.วาริชภูมิ)
          ทิศตะวันตก               ติดต่อกับจังหวัดหนองบัวลำภู (อ.เมือง)

ลักษณะภูมิประเทศ
จังหวัดอุดรธานีพื้นที่ส่วนมากเป็นที่ราบมีแนวเทือกเขาภูพานวางตัวเป็นแนวยาวในแนวทิศเหนือใต้ของจังหวัด และถือเป็นเส้นกั้นเขตแดนธรรมชาติกับจังหวัดข้างเคียง มีลำห้วยหมากแข้งไหลผ่านเขตเทศบาลอุดรธานี และอยู่ห่างจากแนวพรมแดนธรรมชาติระห่างประเทศ  ได้แก่ แม่น้ำโขงเป็นแนวพรมแดน ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเป็นที่ตั้งประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่ห่างจากจังหวัดอุดรธานีประมาณ 50 กิโลเมตร ผ่านจังหวัดหนองคาย การติดต่อจากจังหวัดใกล้เคียง ส่วนมากเป็นทางรถยนต์ที่มีสภาพโครงข่าย (Net Work) ถนนเป็นแบบใยแมงมุม (Spider’Web Pattern)  คือสามารถติดต่อเดินทางเข้าออกกับจังหวัดอุดรธานีได้ทุกทิศทาง  จังหวัดอุดรธานีอยู่ห่างจากเมืองหลวงของประเทศ คือ กรุงเทพมหานคร ประมาณ 562 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 2 หรือถนนมิตรภาพ แต่ถ้าจะเดินทางอากาศก็มีสายการบินของการบินไทยทุกวัน

ที่ตั้งยุทธศาสตร์
จังหวัดอุดรธานีเป็นจังหวัดอยู่ใกล้แนวพรหมแดนกับต่างประเทศ ได้แก่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่มีการปกครองแบบลัทธิสังคมนิยม จังหวัดอุดรธานีเคยใช้เป็นฐานทัพอากาศในสงครามเวียดนาม และเคยเป็นพื้นที่ก่อการร้ายของพวกคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในอดีต จังหวัดอุดรธานีจึงมีหน่วยป้องกันทางยุทธศาสตร์เพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศได้แก่ หน่วยงานต่อไปนี้
          1. มณฑลทหารบกที่ 24  (ค่ายประจักษ์ศิลปาคม)
          2. กรมทหารราบที่ 13
          3. ส่วนแยก 1 กอ. รมน. ภาค 2
          4. ศูนย์ข่าวร่วม พ.ต.ท. เขต 4
          5. หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 21 กรป.กลาง
          6. กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน 24 (ค่ายเสนีย์รณยุทธ)

ขนาดและรูปร่าง
จังหวัดอุดรธานีมีขนาดพื้นที่ประมาณ 15,589.388 กิโลเมตร หรือ ประมาณ 9,743,367 ไร่ เท่ากับร้อยละ 9.5 ของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือร้อยละ 3.23 ของพื้นที่ทั้งประเทศ และมีขนาดพื้นที่รองเป็นอันดับ 3 ใน 17 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันมี 18 อำเภอ    2 กิ่ง (2540) รูปร่างและความกว้างยาวของจังหวัดอุดรธานี มักจะมีผู้กล่าวว่า จังหวัดอุดรธานีมีรูปร่างคล้ายกับผีเสื้อตัวใหญ่กำลังกระพือปีกบิน ส่วนในทัศนะของผู้เขียนจากการศึกษาทางภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ และภูมิศาสตร์การเมือง โดยพิจารณาจากความสำคัญทางด้านทรัพยากรธรรมชาติด้านยุทธศาสตร์ และ การเมือง จังหวัดอุดรธานีจะมีรูปร่างเหมือนแม่ไก่กำลังกระพือปีกบินออกจากรัง ซึ่งแม่ไก่ตัวนี้ทุกส่วนของร่างกายมีความสำคัญทั้งนั้น

ลักษณะภูมิอากาศ
ฤดูกาล
1. ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม ถึง ปลายตุลาคม ระยะนี้จะได้รับอิทธิพลลมตะวันตกเฉียงใต้ หย่อมความกดอากาศสูงอยู่ที่มหาสมุทรอินเดีย ลมนี้จะพัดความชุ่มชื้นจากมหาสมุทรอินเดียมาปกคลุมประเทศไทยร่องความกดอากาศต่ำ จะเคลื่อนที่จากภาคใต้พาดผ่านมายังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งจังหวัดอุดรธานี ทำให้มีฝนตกชุก เดือนที่มีปริมาณน้ำฝนมากที่สุดได้แก่เดือนสิงหาคม
2. ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม ถึง กลางเดือนกุมภาพันธ์ ระยะนี้ได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ หย่อมความกดอากาศสูงอยู่ที่ประเทศรุสเซีย จีน และได้พัดเอาอากาศหนาวเย็นมาปกคลุมประเทศไทย  โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะได้รับอิทธิพลจากลมชนิดนี้มาก ทำให้อากาศหนาวเย็นทั่วไปทั้งจังหวัดอุดรธานี เดือนที่มีอากาศหนาวมากได้แก่ เดือนมกราคม
3. ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ กลางเดือนกุมภาพันธ์ ถึงปลายเดือนพฤษภาคม       อากาศจะร้อน อบอ้าวทั่วทุกเขตพื้นที่ของจังหวัด เพราะระยะนี้เป็นช่วงปลอดลมมรสุม เดือนที่มีอากาศร้อนที่สุด คือเดือนเมษายน

ปริมาณน้ำฝนจังหวัดอุดรธานีจากข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงคมนาคม  ได้ประเมินปริมาณน้ำฝนของจังหวัดอุดรธานีว่าอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง เฉลี่ยตลอดปี 1,498.7 มิลลิเมตร มีฝนตก 21 วัน ฝนตกสูงสุดใน 24 ชั่วโมง เคยวัดได้ 247.0 มิลลิเมตร  เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม  พ.ศ.  2417

อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์
จังหวัดอุดรธานีสภาพทั่วไปเป็นที่ราบสูง มีแนวเทือกเขาสูง และมีแนวเทือกเขาภูพานกั้นทิศทางลมตะวันออกเฉียงเหนือจำทำให้ฤดูหนาวค่อนข้างหนาวเย็น และฤดูร้อนค้อนข้างร้อนอบอ้าวจากข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยา วัดอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีวัดได้ 26.1 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ย 21.5 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 32.1 องศาเซลเซียส เดือนที่มีอากาศร้อนมากที่สุด คือ เดือนเมษายน วัดอุณหภูมิสูงที่สุดวัดได้ 43.9 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่  26 เมษายน 2503    ฤดูหนาวเดือนที่อากาศหนาวที่สุด คือ เดือนมกราคม อุณหภูมิต่ำสุดวัดได้ 2.5 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2498 ส่วนความชื้นสัมพัทธ์สูงสุดเฉลี่ยร้อยละ 90 ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำสุดเฉลี่ยร้อยละ 53 และต่ำสุดที่เคยวัดได้ร้อยละ 13 ในเดือนมกราคม  (ที่มา : กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงคมนาคม)

สภาพป่าไม้ทั่วไป จังหวัดอุดรธานี
จังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่ประมาณ 7,331,438 ไร่ เป็นป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 21 ป่า รวมพื้นที่ 3,120,266 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 42.56 ของพื้นที่จังหวัด มีพื้นที่ที่คงสภาพป่าจริงประมาณ 1,154,375  ไร่  (ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม  Landsat - 5 (TM)  ปี 2541 คิดเป็นร้อยละ 15.96 ของพื้นที่จังหวัด

ตามผลการจำนวนเขตการใช้ประโยชน์ทรัพยากรและพื้นที่ดินป่าไม้ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติท้องที่จังหวัดอุดรธานี ทั้ง 21 ป่า ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่  10  และ  17  มีนาคม  2535 ได้กำหนดเขตการใช้ประโยชน์ทรัพยากรและที่ดินป่าไม้ เป็น 3 เขต คือ

                   เขตเพื่อการอนุรักษ์                 จำนวน           648,400  ไร่
                   เขตป่าเพื่อเศรษฐกิจ                จำนวน            2,124,866  ไร่
                   เขตที่เหมาะสมแก่การเกษตร       จำนวน           347,000  ไร่

สภาพป่าโดยทั่วไปเป็นชนิดป่าเต็งรัง ลักษณะโดยทั่วไปเป็นป่าโปร่ง มีต้นไม้ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ขึ้นอยู่ปะปนกันไม่ค่อยหนาแน่น ตามพื้นล่างมักจะมีโจดและหญ้าเพ็กซึ่งเป็นไม้ไผ่ขนาดเล็กขึ้นอยู่ทั่วไป พื้นที่แห้งแล้งดินร่วนปนทราย หรือ กรวดลูกรัง ความสมบูรณ์ของดินน้อย ต้นไม้แทบทั้งหมดสลัดใบและมักเกิดไฟป่าลุกลามทุกปี ชนิดพันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ เต็ง รัง เหียง พลวง กราด พยอม ติ้ว แต้ว มะค่าแต้ ประดู่ แดง สมอไทย ตะแบกเลือด แสลงใจ รกฟ้า ฯลฯ ส่วนไม้พื้นล่างที่พบมากได้แก่ มะพร้าวเต่า ปุ่มเป้ง โจด และหญ้าชนิดอื่นๆ มีพื้นที่ป่าบางแห่งมีลักษณะค่อนไปทางชนิดป่าเบญจพรรณ พันธุ์ไม้ชนิดสำคัญได้แก่ ประดู่ แดง มะค่าโมง ตะแบก เสลา อ้อยช้าง ส้าน ยมหอม ยมหิน มะเกลือ สมพง เก็ดดำ เก็ดแดง ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีไม้ไผ่ที่สำคัญอีกหลายชนิด เช่น ไผ่ป่า ไผ่บง ไผ่ซาง ไผ่รวก ไผ่ไร่ เป็นต้น