ตำนานบ้านหมากแข้ง

ตำนานบ้านหมากแข้งหนังสือประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดอุดรธานีได้รวบรวมความเป็นมาว่า สาเหตุที่เรียกว่า “บ้านหมากแข้ง” เนื่องจากเดิมเรียกว่าบ้านหมากแข้ง เพราะมีต้นหมากแข้ง (มะเขือพวง) ใหญ่ต้นหนึ่ง เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 40 เซนติเมตร  ซึ่งมีตำนานเล่าสืบกันมาว่า “บริเวณใกล้เคียงที่สร้างวังของกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ซึ่งปัจจุบันเป็นวัดมัชฌิมาวาส มีโนนอยู่โนนหนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่า “โนนหมากแข้ง” มีเจดีย์ศิลาแลง มีสัณฐานดังกรงนกเขา ตั้งอยู่บนโนนนั้นเป็นเจดีย์ก่อคร่อมตอหมากแข้งใหญ่ นัยว่ามีต้นหมากแข้งขนาดใหญ่ต้นหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินกรุงล้านช้างร่มขาวได้ให้มาโค่นไปทำกลองขนาดใหญ่ได้ถึง 3 ใบ ใบหนึ่งเอาไปไว้ที่นครเวียงจันทน์ ใช้ตีเป็นสัญญาณบอกเหตุในเมื่อมีข้าศึกศัตรูมาราวี เมื่อตีกลองใบนี้พญานาคจะขึ้นมาช่วยให้ข้าศึกศัตรูพ่ายแพ้ แต่ภายหลังถูกเซียงเมี่ยงไปหลอกให้ทำลายกลองใบนี้เสีย ชาว   เวียงจันทน์จึงไม่มีพญานาคมาช่วยดังในอดีต ใบที่สองนำไปไว้ที่พระนครหลวงพระบาง ส่วนใบที่สามที่เล็กกว่าสองใบนั้น ได้นำไปไว้ที่วัดหนองบัว (วัดเก่าตั้งอยู่ติดกับถนนสาย อุดร - สกล ห่างจากทางรถไฟประมาณ 5 เส้น) ยังมีเจดีย์ปรากฏอยู่ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งหนองบัว จึงเรียกว่า หนองบัวกลอง (แต่ในปัจจุบัน คำว่ากลองหายไป คงเหลือแต่หนองบัวเท่านั้น) ต้นหมากแข้งต้นนี้คนในสมัยก่อนไม่มีความชำนาญในมาตราวัด จึงบอกเล่าขานไว้ว่าตอต้นหมากแข้งนั้น ภิกษุ 8 รูป นั่งฉันจังหันได้สะดวกสบาย”

แสดงว่าต้นหมากแข้งต้นนั้นใหญ่โตเอาการทีเดียว  แต่คงไม่ได้หมายความว่าภิกษุทั้ง      8 รูปนั้นนั่งบนต้นหมากแข้ง คงจะหมายความว่า ภิกษุ 8 รูป นั่งวงล้อมรอบตอหมากแข้งโดยใช้ตอหมากแข้งนั้นเป็นโต๊ะหรือโตกสำหรับวางอาหาร แต่ถึงกระนั้นก็ยังมองเห็นว่าเป็นต้นหมากแข้งที่ใหญ่มากทีเดียว

เรื่องต้นหมากแข้งนี้ ท่านเจ้าคุณปู่พระเทพวิสุทธาจารย์ (บุญ ปุญญสิริมหาเถระ)         เจ้าอาวาส ซึ่งได้มาอยู่วัดมัชฌิมาวาส เมื่อ พ.ศ. 2440 คือ หลังจากสร้างวัดเพียง 4 ปี ได้เล่าว่า ที่โนนหมากแข้งนั้นมีต้นหมากแข้งขนาดเล็กอยู่มากมาย และมีต้นหมากแข้งขนาดใหญ่เท่ากับต้นมะพร้าวขนาดเขื่องอยู่ต้นหนึ่ง แต่มีลำต้นไม่สูง เป็นพุ่มมีกิ่งก้านสาขาแผ่ออกอย่างไพศาล ประมาณ พ.ศ.2442 มีแบ้ (แพะ) ของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ จำนวนมากได้มากินใบกินกิ่งก้าน ต้นหมากแข้งจึงตาย เข้าใจว่าต้นหมากแข้งนี้จะเป็นหลานหรือเหลนของต้นหมากแข้งที่เจ้าเมืองล้านช้างร่มขาวเอาไปทำกลองเพล เจดีย์ศิลาแลงนั้นตั้งอยู่ตรงกลางพระอุโบสถ วัดมัชฌิมาวาสในปัจจุบันนี้