สภาพทั่วไปของจังหวัดอุดรธานี

ตราประจำจังหวัดอุดรธานี
อุดรธานี” มีความหมายว่า “เมืองทิศเหนือ” เดิมชื่อว่า บ้านหมากแข้ง ต่อมาได้เป็นที่ตั้งกองบัญชาการปราบขบถฮ่อที่ทุ่งเชียงคำ แคว้นเชียงขวางในประเทศลาว และได้ยกขึ้นเป็นมณฑลลาวพวน ควบคุมดูแลปกครองหัวเมืองในภาคอีสานตอนบน ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนชื่อมณฑลลาวพวนเป็นมณฑลฝ่ายเหนือ เพื่อหลีกเลี่ยงคำว่า “ลาวพวน” เมื่อประเทศลาวได้ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อมณฑลฝ่ายเหนือเป็นมณฑลอุดร เมื่อกระทรวงมหาดไทย ยกเลิกระบบการปกครองท้องถิ่นแบบมณฑลไป มณฑลอุดรจึงกลายเป็นเมืองอุดร และจังหวัดอุดรธานีต่อมาจนถึงทุกวันนี้

อุดรธานี มาจากมณฑลฝ่ายเหนือ และมณฑลอุดร จึงมีตราประจำเมืองเป็นรูปท้าวกุเวร หรือท้าวเวสสุวัณ ผู้เป็นเทพ หรือโลกบาลรักษาทิศเหนือ เป็นจอมยักษ์ เป็นโลกบาลทิศอุดร ใน ไตรภูมิพระร่วงเรียกว่า ท้าวไพศรพณ์มหาราช เป็นยักษ์ดำรงอยู่ในธรรม มีหน้าที่ตรวจตราดูแลความเป็นไปของมนุษย์ ดวงตราประจำเมืองจึงเป็นรูปวงกลม พื้นสีส้ม ภายในดวงตราเป็นรูปยักษ์ยืนบนแท่น มือทั้งสองกุมกระบอง และมีกนกเปลวขนาบสองข้าง

สัญลักษณ์ประจำจังหวัด
สัญลักษณ์ประจำจังหวัดอุดรธานี เป็นรูปภาชนะดินเผาลายเขียนสีบ้านเชียง (หม้อบ้านเชียง) เนื่องจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ได้รับการยอมรับและยกย่องประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจังหวัดอุดรธานีจึงกำหนดให้เป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัด


คำขวัญประจำจังหวัด
น้ำตกจากสันภูพาน อุทยานแห่งธรรมะ อารยธรรมห้าพันปี ธานีผ้าหมี่ขิด แดนเนรมิตหนองประจักษ์
เลิศลักษณ์กล้วยไม้หอมอุดรซันไฌน์


ความหมายของคำขวัญ
1. น้ำตกจากสันภูพาน
หมายถึง น้ำตกยูงทอง ซึ่งมีต้นกำเนิดที่เทือกเขาภูพาน ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่บ้านสว่าง หมู่ที่ 2 ตำบลน้ำโสม อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี เป็นน้ำตกที่มีขนาดใหญ่ในภูมิภาคนี้ สลับซับซ้อนเป็นชะโงกลดหลั่นกัน 3 ชั้น มีความสูง 40 เมตร

2. อุทยานแห่งธรรมะ
หมายถึง วัดป่าสถานที่ปฏิบัติธรรมะ และเผยแพร่ธรรมะของพระอริยสงฆ์เจ้าสาย พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เช่น วัดป่าบ้านตาดของพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน (พระราชญาณวิสุทธิโสภณ) วัดป่านาคำน้อย บ้านนาคำน้อย อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ของ พระอาจารย์อินทร์ถวาย วัดป่าบ้านค้อ ต.บ้านค้อ อ.บ้านผือ ของพระอาจารย์ทูน ขิปปันโย และอีกหลายวัด

3. อารยธรรมห้าพันปี
หมายถึง แหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งอยู่ที่บ้านเชียง ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน เป็นแหล่งที่มีการขุดค้นพบเครื่องปั้นดินเผา เครื่องสำริด และโบราณวัตถุก่อนประวัติศาสตร์ต่างๆ มากมาย นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า ลายเครื่องปั้นดินเผามีอายุเก่าแก่ในเอเชีย
ตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันบ้านเชียงได้รับการยกย่องขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกด้านวัฒนธรรม เมื่อปีพ.ศ. 2538

4. ธานี ผ้าหมี่ ขิด
หมายถึง เป็นเมืองที่ทอผ้าขิดและผ้ามัดหมี่ซึ่งเป็นผ้าเอกลักษณ์ของจังหวัด มีการผลิตและจำหน่ายมากที่สุดที่บริเวณบ้านนาข่า ตำบลนาข่า อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

5. แดนเนรมิตหนองประจักษ์
หมายถึง หนองประจักษ์ ซึ่งเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ และเป็นสวนสาธารณะของจังหวัด เดิมชื่อ “หนองนาเกลือ” ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “หนองประจักษ์” เพื่อถวายพระเกียรติแด่ พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม พระผู้สร้างเมืองอุดรธานี และในปี พ.ศ. 2530 เทศบาลเมืองอุดรธานีได้ทำการปรับปรุงบูรณะ เพื่อถวายเป็นราชสักการะแด่พระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ และปัจจุบันนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “หนองประจักษ์ศิลปาคม” ทุกๆ วันจะมีประชาชนไปพักผ่อน และออกกำลังกายเป็นจำนวนมาก

6. เลิศลักษณ์กล้วยไม้หอมอุดรซันไฌน์
หมายถึง กล้วยไม้ชนิดหนึ่งที่ผลิตและผสมพันธุ์ โดยนายประดิษฐ์ คำเพิ่มพูน เกษตรกรนักวิชาการชาวจังหวัดอุดรธานี เจ้าของสวน“กล้วยไม้หอมอุดรแสงตะวัน” ซึ่งได้ทำการผสมพันธุ์กล้วยไม้ได้พันธุ์ใหม่ มีคุณสมบัติพิเศษ คือ มีกลิ่นหอมในตอนเช้ากลีบดอกสีเหลืองปนน้ำตาล สวยงามมาก ทนต่อการเปลี่ยนแปลงของอากาศ ออกดอกตลอดปี ฯลฯได้รับการยกย่องจาก นักวิชาการกล้วยไม้ทั่วประเทศ โดยได้รับการจดทะเบียนลิขสิทธิ์จากสมาคมกล้วยไม้โลกที่ประเทศอังกฤษ ทำให้จังหวัดอุดรธานีมีชื่อเสียงในฐานะพื้นที่ผลิตกล้วยไม้หอมชื่อ “มิสอุดรซันไฌน์”

ต้นไม้ประจำจังหวัดอุดรธานี
ต้นไม้ประจำจังหวัดอุดรธานี คือ “ต้นทองกวาว” หรือ “ต้นดอกจาน” ตามภาษาอีสาน    ซึ่งมีความหมายในตัวเองอยู่หลายประการ คือ พระนามเดิมของ  พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ผู้ตั้งเมืองอุดรธานีนั้น มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่” และเป็นต้นราชสกุล “ทองใหญ่” ขณะที่ พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม  ได้เคลื่อนทัพไพร่พลจากหนองคาย มาตั้งเมืองอุดรธานีที่บ้านเดื่อหมากแข้ง เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2436 นั้น เป็นเวลาเดียวกันที่ “ต้นดอกจาน” กำลังออกดอกบานสะพรั่งและออกดอกนานไปจนถึงเดือนเมษายนของทุกๆ ปี

จังหวัดอุดรธานียังมีวรรณคดีหรือตำนานพื้นบ้านมากมายหลายเรื่อง ซึ่งแต่งเป็นกาพย์ กลอน และร้อยแก้ว จารลงในใบลาน เก็บรักษาไว้ในวัด และเป็นมุขปาฐะเล่าต่อกันมา งานบุญเทศกาลจะนำออกมาอ่านให้คนที่ไปร่วมงานฟัง